NCDs คืออะไร?

ThaiSook I 2566

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือเรียกย่อว่า NCD (Non-communicable disease, NCD) คือ กลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคจึงทำให้ไม่สามารถแพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปอีกบุคคลหนึ่งได้ ซึ่งโรค NCDs นั้นเกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เป็นหลัก เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม และการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกิน และอ้วน ที่นำไปสู่การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือไม่ได้รับการดูแลรักษา จะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการสะสมจนเป็นโรคเรื้อรังได้

องค์การอนามัยโลก (WHO) สถิติผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด มีถึง 63% ที่เกิดจากกลุ่มโรค NCDs และที่สำคัญกว่านั้นคือ กว่า 80% เป็นประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนา

ประเทศไทย จากสถิติล่าสุดพบว่ามี 14 ล้านคนที่เป็นโรค ในกลุ่มโรค NCDs และที่สำคัญยังถือเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของ ประชากรทั้งประเทศ โดยจากสถิติปี พ.ศ. 2552 ประชากรที่เสียชีวิต จากกลุ่มโรค NCDs มากกว่า 300,000 คน หรือ คิดเป็น 73% ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมดในปี 2552 และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

กลุ่มโรค NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงสุด 6 โรค ได้แก่

  • โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)
  • โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ (Cardiovascular & Cerebrovascular Diseases )
  • โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
  • โรคมะเร็ง (Cancer)
  • โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • โรคอ้วนลงพุง (Obesity)

ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญร่วมกันมีสองกลุ่มคือ กลุ่มปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรม 4 ปัจจัยและกลุ่มปัจจัยด้านสรีรวิทยา 4 ปัจจัย

กลุ่มปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรม 4 ปัจจัย ได้แก่

การบริโภคยาสูบ

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม

มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ

กลุ่มปัจจัยด้านสรีรวิทยา 4 ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อ ได้แก่

  1. ภาวะไขมันในเลือดสูง
  2. ภาวะความดันโลหิตสูง
  3. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  4. ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน 

สถิติโรคไม่ติดต่อเรื้อรังระดับประเทศ

(คลิ้กเพื่อดูรายละเอียดแบบ interactive)

สถิติโรคไม่ติดต่อเรื้อรังระดับจังหวัด

(คลิ้กเพื่อดูรายละเอียดแบบ interactive)

อ้างอิง

  • กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2562). โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (บุคลากรสาธารณสุข). สืบค้นจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/associates/hp-ebook_14/
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2019). กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs. สืบค้นจาก https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article

ThaiSook I 2566