ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี

ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี ?

การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นการดูแลสุขภาพที่มีประสัทธิภาพ เพราะเป็นการคัดกรองโรคเบื้องต้น และเป็นการหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหากตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะได้รีบดูแลรักษา
และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลโรคต่าง ๆ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงมีประโยชน์ต่อตัว
ผู้รับการตรวจ และแพทย์ เพราะช่วยให้มีโอกาสป้องกันและรักษาก่อนที่โรคจะพัฒนาไปมากขึ้น

ตรวจสุขภาพประจำปีตรวจอะไรบ้าง ?

สำหรับการตรวจสุขภาพโดยรวมเบื้องต้นทั้งเพศหญิงและเพศชาย ประกอบไปด้วย:

  • ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น วัดความดัน ดัชนีมวลกาย และสอบถามประวัติสุขภาพ
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) หาความผิดปกติของเลือด
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) ประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน
  • ตรวจระดับไขมันในเลือด เช่น คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
  • ตรวจกรดยูริก ประเมินความเสี่ยงโรคเก๊าท์
  • ตรวจการทำงานของไต เช่น ระดับครีเอตินิน
  • ตรวจการทำงานของตับ ประเมินความผิดปกติของตับและทางเดินน้ำดี
  • ตรวจปัสสาวะ วินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ตรวจอุจจาระ ประเมินโรคในระบบทางเดินอาหาร (ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล)
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ประเมินการทำงานของหัวใจ
  • เอกซเรย์ปอด ตรวจความผิดปกติในช่องทรวงอก
  • อัลตราซาวนด์ช่องท้อง ตรวจความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง
  • ตรวจสุขภาพตา เช่น การมองเห็นและความดันลูกตา

การตรวจสุขภาพเพิ่มเติม สำหรับเพศหญิง:

  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก ด้วยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) ซึ่งแพทย์จะเก็บเซลล์จากปากมดลูกแล้วนำส่งตรวจเพื่อหาเซลล์ผิดปกติที่อาจพัฒนาไป เป็นมะเร็งได้
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม แนะนำสำหรับเพศหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป

เตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพอย่างไร ?

    1. ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง
    2. งดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ
    3. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ
    4. หากกำลังรับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต สามารถรับประทานต่อได้ตามที่แพทย์ แนะนำ
    5. หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่น ๆ กรุณานำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์ไปด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย
    6. ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกการเจาะเลือดที่ข้อผับแขน
    7. สำหรับสุภาพสตรี ไม่ควรอยู่ในช่วงก่อน และหลังมีประจำเดือน 7 วัน หากมีประจำเดือนให้ งดตรวจ ปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะ มีผลต่อการแปลผลการตรวจ

โปรแกรมตรวจสุขภาพอาจมีการเปลี่ยนแปลง ควรติดต่อสถานพยาบาลที่ให้บริการตรวจ
เพื่อสอบถามข้อมูลและคำแนะนำเพิ่มเติม แล้วอย่าลืมไปตรวจสุขภาพประจำปีทุกปีนะคะ เพราะ
ThaiSook อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี มีความสุข

อ้างอิง
มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (2559). สืบค้นจาก ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี
สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2564). สืบค้นจาก ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี