Body Composition Analysis การวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกายคืออะไร และข้อจำกัดของ BMI

          รู้หรือไม่ !? การใช้ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการวัดความสมส่วนของมวลร่างกายจากน้ำหนักและส่วนสูง แม้ว่าการใช้ดัชนีมวลกาย จะเป็นตัวชี้วัดที่ง่ายและรวดเร็ว แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ ค่าดัชนีมวลกายไม่สามารถบอกได้ว่า น้ำหนักตัวของแต่ละบุคคลมาจาก กล้ามเนื้อ ไขมัน หรือปริมาณน้ำในร่างกาย สิ่งนี้จะทำให้ผู้ที่มีกล้ามเนื้อสูง เช่น นักกีฬา นักกล้าม ก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีภาวะเป็นโรคอ้วนได้ และในทางกลับกันผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายปกติ อาจจะมีไขมันในร่างกายสูง (ภาวะผอมแต่ไขมันเกิน) ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหัวใจ และเบาหวาน ดังนั้น
          การวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกาย (Body Composition Analysis) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เปอเซ็นต์ไขมันในร่างกาย มวลกล้ามเนื้อ น้ำในร่างกาย ไขมันในช่องท้อง และมวลกระดูก จึงกลายเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการประเมินสุขภาพมากกว่า และช่วยประเมินสุขภาพเชิงลึก แถมยังสามารถวางแผนดูแลสุขภาพเฉพาะคนได้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แล้วเราจะรู้องค์ประกอบร่างกาย (Body Composition) ของเราได้อย่างไร ?         
         ในปัจจุบันมีเครื่องวิเคราะห์มวลร่างกาย (Body Composition Analyzer) ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้สำหรับชั่งน้ำหนัก และวิเคราะห์ องค์ประกอบของร่างกาย โดยจะใช้กระแสไฟฟ้าต่ำ ๆ ไหลผ่านร่างกาย ผ่านขา และแขนทั้งสองข้าง โดยส่วนที่เป็นกระดูก ไขมัน จะนำไฟฟ้าได้ไม่ดี มีความต้านทานสูง และเลือด อวัยวะภายใน หรือกล้ามเนื้อ จะนำไฟฟ้าได้ดี มีความต้านทานต่ำ ในส่วนนี้จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ส่วนประกอบของร่างกายได้อย่างละเอียด มีความคลาดเคลื่อนที่ค่อนข้างต่ำ โดยเครื่องวิเคราะห์มวลร่างกาย (Body Composition Analyzer) มีขายอยู่ในท้องตลาดสามารถหาข้อมูลได้ทั่วไป หรือสถานพยาบาล สถานที่ออกกำลังกาย บางสถานที่ก็จะมีให้บริการ และทางไทยสุขก็จะมีเครื่องวิเคราะห์มวลร่างกายเช่นเดียวกันเร็ว ๆ นี้ รอติดตามได้เลย

ค่าปกติขององค์ประกอบร่างกายควรอยู่ที่เท่าไร ?         
         ค่าองค์ประกอบร่างกายที่ได้จากเครื่องวิเคราะห์มวลร่างกาย ซึ่งเป็นการประเมินสุขภาพเบื้องต้น หากมีค่าที่ผิดปกติ (สูงกว่าเกณฑ์ หรือ ต่ำกว่าเกณฑ์) มากเกินไป ให้ทำตามคำแนะนำของเครื่อง หรือควรปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญอีกครั้งเพื่อประเมิน โดยค่าปกติจะแบ่งออกดังนี้

เปอเซ็นไขมันในร่างกาย (Fat %)
อายุ เพศชาย เพศหญิง
น้อยกว่า 39 ปี 8% – 20% 22% – 33%
40 – 59 ปี 11% – 22% 24% – 34%
มากกว่า 60 ปี 13% – 25% 25% – 36%
มวลกล้ามเนื้อ (รวมน้ำในร่างกาย) (Muscle Mass)
อายุ เพศชาย เพศหญิง
น้อยกว่า 39 ปี 75% – 89% 63% – 75.5%
40 – 59 ปี 73% – 86% 62% – 73.5%
มากกว่า 60 ปี 70% – 84% 60% – 72.5%
น้ำในร่างกาย (TBW%)  
เพศชาย เพศหญิง
45% – 60% 50% – 65%
มวลกระดูก (Bone Mass)
เพศ น้ำหนักตัว (กก.) ค่ามวลกระดูกปกติ (กก.)
ชาย น้อยกว่า 65 กก. 2.66
65 – 95 กก. 3.29
95 กก. ขึ้นไป 3.69
หญิง น้อยกว่า 50 กก. 1.95
50 – 75 กก. 2.40
75 กก. ขึ้นไป 2.95
ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat)  
ปกติ เริ่มมีความเสี่ยง ความเสี่ยงสูง
1 – 9 10 – 14 มากกว่า 15

โดยจะมีการแบ่งประเภทร่างกายออกเป็น 9 ประเภท โดยแต่ละประเภทจะเป็นยังไง และแบ่งยังไงมาดูกัน ในครั้งถัดไป แล้วอย่าลืมออกกำลัง และการดูแลสุขภาพให้อยู่ในเกณฑ์ปกติกันนะคะ เพราะ
ThaiSook อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี มีความสุข

อ้างอิง
ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นจาก รายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะเครื่องตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกาย แบบเคลื่อนที่
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. สืบค้นจาก การแปลผลการวัดองค์ประกอบของร่างกาย
Withings. สืบค้นจาก What are the normal ranges for body composition?