ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม

         เคยได้ยินคำว่า “วัยรุ่นปวดหลัง” กันหรือไม่? คำนี้ฮิตมากในหมู่ชาวออฟฟิศ! และในบทความก่อน เราก็ได้พาไปรู้จักกับ “ออฟฟิศซินโดรม” กันไปแล้ว ในบทความนี้เรามีวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้คุณห่างไกลจากอาการนี้ง่าย ๆ ด้วยการปรับพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมการทำงานของคุณเอง

ทำไมต้องใส่ใจเรื่องนี้?
          ก่อนอื่นเรามาเล่าย้อนกันก่อนว่าทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องการปรับพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมในการทำงาน นั่นเพราะว่าออฟฟิศซินโดรมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ เกิดจากการนั่งทำงานท่าเดิมเป็นเวลานาน พฤติกรรมเนือยนิ่ง (การนั่ง หรือเอนนอนในกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้พลังงานน้อย ไม่รวมการนอนหลับ) และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะและเก้าอี้ที่ไม่รองรับสรีระ ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย คอ บ่า ไหล่ หลัง และอาจนำไปสู่โรคเรื้อรังได้ การป้องกันออฟฟิศซินโดรมไม่ได้มีเพียงแค่การเลือกใช้โต๊ะทำงานที่เหมาะสม แต่ยังรวมถึงการปรับพฤติกรรมการทำงาน และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมออีกด้วย

วิธีป้องกันออฟฟิศซินโดรม
          1. เลือกใช้โต๊ะ และเก้าอี้ที่เหมาะสม ควรเลือกใช้โต๊ะทำงานที่สามารถปรับระดับได้ เพื่อให้สามารถเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งไปยืนได้ เก้าอี้ควรมีพนักพิงรองรับแผ่นหลัง และสามารถปรับระดับความสูงได้
          2. จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ควรปรับระดับจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา คีย์บอร์ด และเมาส์ควรวางในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ต้องยกไหล่ หรือเอื้อมมือมากเกินไป
          3. เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานนานเกินไป ควรลุกขึ้นยืน หรือขยับตัวทุก 30-60 นาที
          4. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อระหว่างวัน บริหารร่างกายง่าย ๆ เช่น หมุนไหล่ เอียงคอ หรือยืดหลัง เพื่อป้องกันอาการปวด และตึงของกล้ามเนื้อ
          5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือโยคะ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และกระดูก
          6. ดูแลสุขภาพโดยรวม พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หากมีอาการปวดเรื้อรัง ทำกายภาพบำบัด หรือควรพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม

          การป้องกันออฟฟิศซินโดรมต้องอาศัยทั้งการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการดูแลร่างกายให้แข็งแรง การเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการปวดเมื่อย และทำให้สุขภาพดีขึ้นในระยะยาว เรามาเลิกเป็นวัยรุ่นปวดหลังกันดีกว่า

ThaiSook เพื่อคนไทยสุขภาพดี มีความสุข

อ้างอิง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สืบค้นจาก ปรับวิธีนั่งทำงานอย่างไร ไม่ให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมโดรม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สืบค้นจาก ออฟฟิศซินโดรม โรคของคน Gen ใหม่ ดูแลอย่างไรไม่ให้เรื้อรัง