จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยล่าสุด เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และอาจจะสร้างผลกระทบทั้งทางกายภาพและจิตใจ แม้ว่าอาคาร และถนนจะได้รับการซ่อมแซม แต่ความรู้สึกหวาดกลัว และความไม่มั่นคงอาจคงอยู่ในใจของผู้ประสบภัย การทำความเข้าใจภาวะทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้น เช่น PEDs (Peri-Traumatic Emotional Distress) และ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) รวมถึงวิธีดูแลตัวเอง และคนรอบข้าง จะช่วยให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้
PEDs และ PTSD คืออะไร ?
PEDs (Peri-Traumatic Emotional Distress) คืออาการความเครียดทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นทันที ระหว่างหรือหลัง จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เช่น แผ่นดินไหว ผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจมีอาการดังนี้
– รู้สึกกลัวอย่างรุนแรง สับสน หรือช็อก
– ร้องไห้อย่างควบคุมไม่ได้
– หัวใจเต้นแรง มือสั่น หรือเหงื่อออกมาก
– รู้สึกเหมือนเหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นอยู่
อาการเหล่านี้มักจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และสามารถบรรเทาได้ด้วยการได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์จากคนรอบข้าง
PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้น เป็นระยะเวลานาน หลังจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญผ่านไป โดยมักจะมีอาการต่อเนื่องนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ได้แก่
– Flashbacks หวนคิดถึงเหตุการณ์เหมือนกำลังเกิดขึ้นจริง
– Avoidance หลีกเลี่ยงสถานที่หรือสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์
– Hyperarousal สะดุ้งง่าย หวาดระแวง หรือมีปัญหาการนอน
– Negative Thoughts รู้สึกสิ้นหวัง โดดเดี่ยว หรือโทษตัวเอง
หากอาการเหล่านี้รุนแรงและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
วิธีดูแลตัวเองหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ
1. ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องฝืนทำตัวเข้มแข็ง แต่ควรให้เวลากับตัวเองในการฟื้นฟูจิตใจ
2. หาแหล่งสนับสนุน คุยกับครอบครัว เพื่อน หรือกลุ่มช่วยเหลือเพื่อแบ่งปันความรู้สึก
3. ดูแลสุขภาพกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเบา ๆ และพยายามนอนหลับให้เพียงพอ
4. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น งดดูข่าว หรือวิดีโอเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่อาจกระตุ้นความทรงจำเชิงลบ
5. ฝึกการผ่อนคลาย ใช้เทคนิคหายใจลึกๆ ทำสมาธิ หรือเล่นโยคะเพื่อลดความเครียด
6. กลับสู่กิจวัตรเดิมทีละน้อย การทำกิจกรรมที่เคยทำจะช่วยให้รู้สึกถึงความมั่นคงมากขึ้น
วิธีช่วยเหลือคนรอบข้าง
1. รับฟังโดยไม่ตัดสิน ให้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาในการพูดถึงความรู้สึก
2. อยู่เคียงข้างอย่างเข้าใจ การแสดงออกว่า “คุณไม่ได้อยู่คนเดียว” สามารถช่วยได้มาก
3. สังเกตสัญญาณของ PTSD หากคนใกล้ตัวมีอาการรุนแรง หรือยาวนาน ควรแนะนำให้พบผู้เชี่ยวชาญ
แม้ว่าแผ่นดินไหวจะผ่านไปแล้ว แต่ผลกระทบทางจิตใจอาจยังคงอยู่ การเข้าใจ และดูแลตัวเอง รวมถึงการช่วยเหลือคนรอบข้างจะช่วยให้เราฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง หากคุณ หรือคนใกล้ตัวรู้สึกไม่สามารถรับมือกับอารมณ์ของตนเองได้ อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะสุขภาพใจสำคัญพอ ๆ กับสุขภาพกาย
ThaiSook เพื่อคนไทยสุขภาพดี มีความสุข
อ้างอิง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สืบค้นจาก ภาวะ PTSD ความผิดปกติทางอารมณ์หลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สืบค้นจาก 6 วิธีดูแลจิตใจจากเหตุสะเทือนขวัญ
National Institute of Mental Health สืบค้นจาก Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD)
Green Space Health สืบค้นจาก Pediatric Emotional Distress Scale (PEDS)