วันนี้เราจะมีทำความรู้จักกับไขมันในช่องท้อง หรือ Visceral Fat คือ ภาวะไขมันที่เกิดจากการสะสมไขมันไว้ในร่างกายเกินกว่าที่จะเผาพลาญได้ในแต่ละวัน ซึ่งในส่วนใหญ่แล้วมาจากการรับประทานอาหารประเภทไขมัน คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ร่างกายจะเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลส่วนเกินให้เป็นไขมัน ก่อนสะสมไว้ในอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง เมื่อเวลาผ่านไป ไขมันเหล่านี้จะเกิดการแข็งตัวมากขึ้น ส่งผลให้หน้าท้องยื่นออกมาอย่างชัดเจน
นอกจากการรับประทานอาหารเกินความจำเป็นแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของภาวะไขมันในช่องท้องสูง คือการขาดการออกกำลังกาย และการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไปในแต่ละวัน แต่ในบางกรณีผู้ที่รับประทานอาหารน้อยอยู่แล้ว และยังพบว่ามีไขมันในช่องที่สูงอยู่ อาจจะเป็นเพราะปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น พันธุกรรม หรือการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน
ความเสี่ยงจากไขมันในช่องท้อง
การมีไขมันในช่องท้องมากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น ไขมันพอกอวัยวะ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และไขมันในช่องท้องยังสัมพันธ์กับ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
วิธีลดไขมันในช่องท้อง
หากต้องการลดไขมันในช่องท้อง สิ่งที่ควรทำคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยควรผสมผสานการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio) และเวทเทรนนิ่ง (Strength Training) นอกจากนี้ ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูงและอาหารแปรรูป หันมาเน้นอาหารโปรตีนลีน ผัก ผลไม้ และคาร์โบไฮเดรตที่ดี เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี เลือกวิธีการปรุงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การต้ม นึ่ง อบ หรือย่าง
อีกสิ่งสำคัญคือการจัดการความเครียด เนื่องจากความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งกระตุ้นการสะสมไขมันในช่องท้อง วิธีลดความเครียด ได้แก่ การทำสมาธิ การฝึกหายใจลึก หรือการใช้เทคนิคจัดการความเครียดอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละคน
ปกติ | เริ่มมีความเสี่ยง | ความเสี่ยงสูง |
1 – 9 | 10 – 14 | มากกว่า 15 |
จะสามารถรู้ค่าไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) ได้อย่างไร
โดยปกติค่าไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) สามารถทำได้หลายวิธี โดยวิธีที่ได้รับความนิยมคือการใช้ เครื่องชั่งน้ำหนักชนิดวัดองค์ประกอบร่างกาย (Body Composition Analyzer) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยประเมินระดับไขมันในร่างกายได้อย่างแม่นยำ หรือสามารถทราบค่าไขมันในช่องท้องได้จาก การตรวจสุขภาพประจำปี ที่มักรวมการวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกายไว้ด้วย อีกหนึ่งวิธีที่สามารถประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นได้ง่าย คือการวัดรอบเอว โดยเกณฑ์มาตรฐาน คือ
เพศชาย รอบเอวไม่ควรเกิน 40 นิ้ว
เพศหญิง รอบเอวไม่ควรเกิน 35 นิ้ว
หากพบว่ารอบเอวเกินเกณฑ์ดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินระดับไขมันในช่องท้องอย่างละเอียด พูดคุยถึงความเสี่ยง และขอคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจมีการตรวจเลือด หรือส่งต่อไปยังนักโภชนาการเพื่อวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาว
การเฝ้าระวัง และดูแลไขมันในช่องท้องอย่างเหมาะสม คือกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง พร้อมทั้งส่งเสริมสุขภาพที่ดีในระยะยาว เริ่มต้นดูแลตัวเองวันนี้ เพื่อชีวิตที่แข็งแรงและยืนยาว
ThaiSook เพื่อคนไทยสุขภาพดี มีความสุข
อ้างอิง
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นจาก Visceral Fat ไขมันตัวร้าย มหันตภัยที่คุณไม่คาดคิด
MedicalNewsToday. สืบค้นจาก What is the best way to get rid of visceral fat?
Tanita. สืบค้นจาก Visceral Fat Rating