แบคทีเรียในลำไส้ส่งผลต่อน้ำหนักหรือไม่?

ประชาชนทั่วโลกมากกว่า 4 ล้านคน เสียชีวิตจากภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และวัยผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไป ในประเทศไทย เป็นโรคอ้วนหรือมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/เมตร2 มากถึงร้อยละ 45.6 ในปี 2563 และเพิ่มเป็นร้อยละ 46.2 ในปี 2564 และร้อยละ 46.6 ในปี 2565 (ข้อมูลจากคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข,HDC) จะเห็นได้ว่ามีจำนวนประชากกรที่ป่วยเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคอ้วนนั้น ทุกคนก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การใช้ชีวิต หรือการไม่มีกิจกรรมทางกาย

ในปัจจุบันความอ้วนสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ รวมถึงเกิดจาก แบคทีเรียในลำไส้ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากในร่างกายของเรามีแบคทีเรียนับล้านล้านตัว และแบคทีเรียแต่ละตัวก็มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และเป็นผลเสียต่อร่างกาย ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญต่อสุขภาพร่ายกายของเรา เช่น ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยสังเคราะห์สารอาหารที่ร่างกายต้องการ รวมไปถึงช่วยในเรื่องการย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหารที่อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อน้ำหนักของเราได้

จากงานวิจัยของ Gordon และทีมงาน ตีพิมพ์เมื่อ กันยายน พ.ศ. 2556 ในวารสาร Science ได้ทำการทดลองโดยใช้หนูที่เลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากเชื้อโรค และได้ทำการฉีดแบคทีเรียในลำไส้จากคนอ้วน และคนผอมที่เป็นฝาแฝดกัน จากนั้นให้หนูทั้ง 2 กินอาหารชนิดเดียวกัน กับพบว่าหนูที่ได้รับแบคทีเรียจากคนอ้วนกับมีน้ำหนักตัว และไขมันมากกว่าหนูที่ได้รับแบคทีเรียจากคนผอม รวมถึงความหลากหลายของแบคทีเรียในหนูที่ได้รับแบคทีเรียจากคนอ้วนก็ลดลงด้วยเช่นกัน จากนั้นได้ทำการทดสอบซ้ำอีกครั้ง ครั้งนี้ได้ทดลองโดยย้ายหนูทั้งสองไปรวมอยู่ในกรงเดียวกันหลังจากให้แบคทีเรีย พบว่าหนูทั้ง 2 ยังคงผอมอยู่ ซึ่งบ่งชี้ว่าเกิดการแลกเปลี่ยนแบคทีเรียกัน ที่น่าจะมาจากการกินอุจจาระของหนูได้รับแบคทีเรียจากคนผอม และเพื่อพิสูจน์ประเด็นนี้เพิ่มเติม นักวิจัยได้ทำการย้ายแบคทีเรีย 54 สายพันธุ์จากหนูผอมไปยังหนูที่มีมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วน และพบว่าหนูที่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนกลับมามีน้ำหนักที่ลดลง และมีน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแบคทีเรียในลำไส้มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนได้เช่นกัน

อ้างอิง

ThaiSook